วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ข้อปฏิบัติในการออกกำลังกายมีอะไรบ้าง

1. ไม่ควรรับประทานอาหารก่อนออกกำลังกายประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่รัดแน่นจนอึดอัด และเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว
3. ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ผู้ฝึกฝนจะได้มีกำลังกายเพื่อสำหรับการบริหารร่างกายได้อย่างเต็มที่
4. เลือกสถานที่ออกกำลังกายที่โล่ง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีมลพิษน้อยที่สุด เนื่องจากในขณะออกกำลังกายผู้ฝึกฝนย่อมมีภาวะการสูดรับเอาอากาศจากภาพแวดล้อมโดยรอบเข้ามามากกว่าคนปกติ ซึ่งเมื่อมีมลพิษเสียแล้วร่างกายย่อมสูดรับเอาสารมลพิษเข้ามามากว่าปกติ กลายเป็นผลเสียแทนที่การออกกำลังนั้นจะมีผลดีต่อร่างกาย
5. การออกกำลังกายต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายเป็นสำคัญ เช่นในช่วงเวลาที่ผู้ฝึกฝนเจ็บป่วยไม่สบาย ไม่สามารถออกกำลังกายได้ก็ควรหยุดพักผ่อนให้ร่างกายหายดีเสียก่อน หรือหากเพิ่งหายจากการเจ็บป่วยก็ควรเริ่มออกกำลังกายแต่น้อย อย่าเพิ่งฝึกฝนในระดับปกติเนื่องจากร่างกายเพิ่งจะปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติ กำลังกายอาจไม่จะยังไม่ฟื้นขึ้นมาจนอยู่ในระดับเดิม
6. ไม่ควรดื่มน้ำเย็นในขณะที่พักเหนื่อย เนื่องจากเมื่อมีการออกกำลังกายร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงเมื่อมีการดื่มน้ำเย็นเข้ามาร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับอุณหภูมิอย่างกระทันหันซึ่งอาจทำให้เจ็บป่วยได้ หรืออย่างเบาแทนที่ร่างกายจะเกิดความร้อนเพื่อนำไปเผาผลาญไขมันหรือส่งเสริมการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตก็จะสูญเสียความร้อนนั้นไป
7. หลังการออกกำลังกายควรจะผ่อนคลายร่างกายด้วยการเดินไปมารอบๆบริเวณนั้นจนร่างกายกลับเข้าสู่ภาะปกติ ไม่ควรหยุดพักโดยนั่งหรือนอนทันทีเนื่องจากจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจมีผลกระทบต่อหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตในระยะยาว
8. ไม่ควรอาบน้ำชำระร่างกายในขณะที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการออกกำลังกาย เนื่องจากจะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ทันอาจทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย ถ้าร้ายแรงมากอาจช็อคเสียชีวิตได้ทันที

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ฝึกโยคะแบบธิเบต

โยคะมีหลายท่า หลายประเภท สำหรับโยคะที่นำ link มาให้ดูนี้เป็นโยคะแบบธิเบต ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่เป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศมานานแล้ว โดยมีฝรั่งเข้าไปร่ำเรียนมาจากพระลามะในธิเบต ซึ่งคนที่ฝึกเป็นประจำแม้อายุจะมากแล้วก็ยังดูอ่อนกว่าวัยมาก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ The Five Tibetan Rites

อันที่จริงท่าโยคะนี้มีลักษณะต่างจากอาสนะโยคะทั่วไปตรงที่ต้องเคลื่อนไหวเป็นจังหวะที่แน่นอนตามลมหายใจเข้า-ออก และมีลักษณะการการใช้พลังกล้ามเนื้อไปพร้อมกับการยืดหยุ่น ซึ่งดูมีลักษณะเหมือนท่าบริหารร่างกายมากกว่าโยคะอาสนะที่เรามักพบเห็นกัน แต่ผลของมันสามารถกระตุ้นศูนย์กลางพลังงานต่างๆในร่างกายหรือ “จักร” ตามตำแหน่งต่างๆได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ฝึกมีร่างกายที่แข็งแรง คล่องแคล่ว ว่องไว

ท่าการฝึกของโยคะชุดนี้มีอยู่เพียง 5 ท่า คือ ท่าหมุนตัว ท่าคีม ท่านั่งเอนตัว ท่าโต๊ะ และท่าสามเหลี่ยมหน้า-หลัง ในการหายใจให้ใช้จังหวะที่ร่างกายยืดออกหายใจเข้า เมื่อจังหวะที่ร่างกายห่อตัวลง หรือกลับสภาพเดิมจะหายใจออก ส่วนจำนวนครั้งในการฝึกส่วนใหญ่ตั้งไว้ที่ 21 ครั้งสำหรับผู้ฝึกใหม่ควรจะเริ่มน้อยๆตามกำลังของตนเองก่อน และควรให้เวลาพักผ่อนสำหรับการปรับร่างกายหนึ่งวัน หรือก็คือฝึกวันเว้นวันนั่นเอง



ลองดูจากคลิป ผมเอามาจากเว็บ youtube ที่เอาคลิปคุณฝรั่งคนนี้เพราะพี่แกดูเท่ห์ดีครับ -_-++

นอกจากนี้ยังมี ท่าฝึกที่ 6 ใช้สำหรับผู้ที่ฝึกทั้ง 5 ท่ามาระยะหนึ่งจนรู้สึกว่าร่างกายมีพลังภายในมาก เกิดความรู้สึกอุ่นร้อนที่ท้องน้อย(โดยไม่ใช่อุปทาน-คือรู้สึกเองเป็นธรรมชาติ) ซึ่งท้องน้อยเป็นศูนย์กลางที่เก็บพลังงานละเอียด ก็จะฝึกท่านี้เพื่อดึงพลังงานที่เก็บไว้มาหล่อเลี้ยงสร้างเสริม ซ่อมแซมพลังงาน เลือดลม ในส่วนละเอียดของร่างกาย
ข้อเตือนใจของการฝึกท่าที่ 6 สำหรับผู้ที่ใจเร็วด่วนได้โดยไม่ได้ฝึกท่าทั้ง 5 มาก่อนก็คือ เมื่อฝึกแล้วจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลยเนื่องจากท่าที่ 6 เปรียบเสมือนการนำพลังไปใช้ หากไม่ฝึก 5 ท่าแรกมาระยะเวลาพอสมควรก็จะไม่มีพลังงานสะสมให้นำไปใช้ได้



ท่าที่6ครับ

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

เสริมสร้างพลังด้วยการพักผ่อนอย่างถูกวิธี


หลังจากที่ออกกำลังรูปแบบต่างๆเสร็จสิ้นในแต่ละครั้ง ผู้ฝึกฝนควรจะมีเวลาพักผ่อนร่างกายเพื่อให้โอกาสร่างกายทำการฟื้นฟู ซ่อมแซม และชดเชย พลังงานต่างๆที่ใช้ไปขณะออกกำลังกาย โดยธรรมชาติแล้วร่างกายมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักรอันมหัศจรรย์ที่สามารถเรียนรู้และตอบรับสิ่งต่างๆรอบตัวได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกล้ามเนื้อต้องออกแรงเป็นอย่างมากในขณะออกกำลัง แน่นอนว่ากล้ามเนื้อต้องสูญเสียพลังงานไปส่วนหนึ่ง แต่นั่นก็ทำให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้ว่าจำเป็นต้องหาพลังงานมาสะสมให้มากกว่าเดิมเพื่อที่ในโอกาสต่อไปจะได้มีพลังงานนำมาใช้ได้ในครั้งต่อไป

ดังนั้นในช่วงที่ร่างกายจะต้องสะสมพลังงานก็คือช่วงเวลาที่ร่างกายต้องพักผ่อนเพื่อให้โอกาสในการเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนต่างๆให้พร้อมที่จะรับการฝึกครั้งต่อไปพร้อมกับรับพลังงานเข้ามาใหม่จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป

การพักผ่อนร่างกายจากการออกกำลังกายไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องหยุดทำกิจกรรมต่างๆแล้วนั่งเล่นนอนเล่นเพื่อรอให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพ แต่หมายถึงการหยุดวิธีใช้กำลังประเภทนั้นชั่วคราว คือหลังจากออกกำลังแล้วก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ใช้ชีวิตประจำวันแบบปกติทั่วไป เพียงแต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังในรูปแบบนั้นแทน รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และนอนหลับให้เพียงพอ

การออกกำลังประเภทต่างๆมีข้อกำหนดในการพักผ่อนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การฝึกแบบอะแนโรบิคส์(anaerobics) เช่นเพาะกาย เวทเทรนนิ่ง นั้นกำหนดให้ฝึกภายในเวลาไม่เกิน 90 นาที ซึ่งภายในระยะเวลานี้ผู้เล่นมากนานอาจสามารถบริหารร่างกายได้ไม่ครบทุกส่วนก็จำเป็นต้องหยุด แล้วพักผ่อนกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้ไปแล้ว โดยหลักจะต้องใช้เวลาพักประมาณ 2 วันต่อกล้ามเนื้อหนึ่งส่วนโดยเฉพาะกล้ามเนื้อชิ้นใหญ่ก็ต้องใช้เวลาพักมากกว่ากล้มเนื้อชิ้นเล็ก และในหนึ่งวันอาจสามารถฝึกได้ 2 ช่วงการฝึกโดยควรเว้นช่วงพักผ่อนอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง และทั้ง 2 ช่วงการฝึกจะต้องเป็นการฝึกกล้ามเนื้อคนละส่วนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการฝึกอย่างหักโหม

ส่วนการออกกำลังแบบแอโรบิคส์ (aerobics) มีคาบการฝึกแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับระดับการออกแรง โดยมากจะกำหนดให้อยู่ในระยะเวลาประมาณ 40-60 นาที ต่ออัตราการเต้นหัวใจสูงสุดต่อนาที 60-85% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี หากใช้เวลามากกว่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายไม่ให้เข้าสู่ภาวะหักโหม ถึงอย่างไรการออกกำลังแบบแอโรบิคส์เพียงระยะเวลา 40-60 นาทีก็มีผลให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวและเริ่มกระบวนเผาผลาญไขมันไปตลอดจนเกือบถึง 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอให้ร่างกายมีเวลาพักผ่อนเพื่อที่จะออกกำลังกายในครั้งต่อไป รวมกับระยะเวลาพักผ่อนให้ร่างกายฟื้นฟูพลังงานประมาณ 1 วัน ดังนั้นก็การออกกำลังประเภทนี้ด้วยระยะเวลาวันเว้นวันก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนการออกกำลังที่เบากว่าอย่างเช่นเดิน หรือวิ่งเหยาะ ซึ่งมีความเข้มข้นต่ำก็อาจสามารถออกกำลังได้ทุกวัน

สำหรับโยคะและชี่กงซึ่งมีการควบคุมระบบต่างๆในร่างกายอย่างสมดุลย์และข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการฝึกก็แล้วแต่การฝึกของแต่ละชนิด ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและชนิดของโยคะหรือชี่กง ถ้ามีความเข้มข้นในการออกกำลังมากจนอีกวันรู้สึกปวดเมื่อยจนออกกำลังไม่ได้ก็ควรจะเป็นแบบวันเว้นวัน แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวก็สามารถฝึกชี่กงหรือโยคะได้ทุกวัน

อย่าฝึกอย่างหักโหม


มีผู้ที่ออกกำลังกายมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรบางคนเริ่มเห็นผลจากการออกกำลังกายบ้างแล้วจึงเกิดความรู้สึกว่าต้องการจะบรรลุเป้าหมายโดยเร็วยิ่งขึ้น โดยจะต้องฝึกฝนให้หนักกว่าปกติ ยกตัวอย่างเช่นบางคนเต้นแอโรบิคส์ด้วยเวลาที่มากกว่าคนอื่นที่ฝึกมาพร้อมกันด้วยหวังว่าจะสามารถลดไขมันได้เร็วกว่า หรือพยายามออกกำลังกายอย่างเข้มข้นทุกวันเพื่อหวังจะให้ร่างกายเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น แม้ว่าจะยากเย็นเพียงใดก็ต้องทำให้ได้ ประมาณว่าคนทั่วไปใช้เวลา 5 เดือน แต่ฉันขอใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น

วิธีคิดดังกล่าวนับว่าผิดอย่างสิ้นเชิงเพราะว่าทุกขณะที่พวกเขาออกกำลังด้วยวิธีการเช่นนี้ก็เท่ากับว่ากำลังก้าวไปสู่ภาวะหักโหมของการออกแรงเสียแล้ว การฝึกฝนอย่างหนักนั้นสามารถทำให้การออกกำลังชนิดนั้นๆประสบความสำเร็จได้จริงแต่ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยของการฝึกอย่างถูกต้องถูกวิธีซึ่งมิใช่การฝึกหนักที่หมายถึงการฝืนออกกำลังเกินตัว

แล้วอย่างไรจึงเรียกว่าการฝืนกำลังตนเองล่ะ? ในการออกกำลังกายชนิดต่างๆก็มีจุดจำกัดของการออกกำลังชนิดนั้นๆ เช่นการออกกำลังแบบอะแนโนบิคส์ (anaerobics)ที่หวังผลจะให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขนาดขึ้น อย่างเช่นการเพาะกาย เวทเทรนนิ่ง นอกจากจะมีการจำกัดเวลาที่ไม่ควรออกกำลังอย่างต่อเนื่องเกิน 90 นาที เนื่องจากจะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้ออย่าง testosterone ลดน้อยลง นอกจากนี้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนยังถูกกำหนดด้วยวิธีการออกแรงซึ่งสัมพัทธ์กับจำนวนครั้งที่ต้องออกแรงด้วย น้อยเกินไปก็ได้ผลน้อย แต่หากมากเกินไปแทนที่จะได้มวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นกล้ามเนื้อกลับจะมีขนาดเล็กลงแทน

เช่นเดียวกับการออกกำลังแบบแอโรบิคส์ (aerobics) เช่นเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ก็มีระยะเวลาที่จำกัดอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 40-60 นาทีต่อคาบการออกกำลังกายหนึ่งครั้ง ตลอดจนต้องควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในเกณฑ์ หากมากกว่านี้ก็อาจทำให้เกิดสภาวะฝึกอย่างหักโหม อาจทำให้เลือดสูบฉีดไม่ทันก็จะหน้ามืดเป็นลม หรือในกรณีที่เผาผลาญไขมันจนหมดแล้วร่างกายก็จะสลายกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทนทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง แต่ที่กล่าวมานี้หมายถึงการออกแรงในระดับเดียวกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะการฝึกเท่านั้นอย่านำไปเปรียบเทียบกับการแข่งขันกีฬาเช่นวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานทางไกล หรือไตรกีฬา เพราะในการแข่งขันดังกล่าวซึ่งใช้เวลาเกิน 40 นาทีนี้ นักกีฬาจะมีช่วงที่ผ่อนแรงสลับกับออกแรงอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ออกแรงในระดับเดียวกันตลอดการแข่งขัน

ในส่วนของการฝึกโยคะและชี่กง ถึงแม้โดยส่วนใหญ่ทั้งโยคะและชี่กงจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาการฝึกเพราะต้องขึ้นอยู่กับวิธีการฝึกแต่ละชนิด แต่ก็มีระดับการฝึกที่จำกัดไม่ให้ผู้ฝึกออกกำลังอย่างหักโหมเช่นกัน อาทิเช่นการทำท่าโยคะหรือชี่กงบางท่าที่ผู้ฝึกไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ตามรูปแบบที่กำหนด เช่นร่างกายไม่ยืดหยุ่นพอ กล้ามเนื้อบางส่วนไม่แข็งแรงพอที่จะเคลื่อนไหวทำท่าทางที่กำหนดได้ ก็ไม่ควรฝืนสภาพร่างกายเพราะจะทำให้ร่างกายบาดเจ็บเช่นเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด หรืออักเสบ จึงควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ฝึกแบบร้อนหรือว่าฝึกแบบเย็น - อันตรายแฝงที่นึกไม่ถึง


ในปัจจุบันมีสถานออกกำลังบางแห่งนิยมการออกกำลังกายภายใต้อุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ มีการปรับแต่งอุณหภูมิห้องให้มีความร้อน เพียงเข้าไปยังไม่ทันได้ออกกำลังก็รู้สึกว่าเหงื่อเริ่มจะออกแล้ว สถานออกกำลังดังกล่าวอ้างว่าการฝึกภายใต้อุณหภูมิเช่นนี้จะช่วยขับเหงื่อ ล้างพิษ และลดไขมันส่วนเกินได้ดีกว่าการฝึกในสภาวะปกติ นอกจากนี้ยังลดปัญหาการบาดเจ็บเนื่องจากความร้อนมีส่วนช่วยในการสร้างความยืดหยุ่นของร่างกาย

ภายหลังจากการฝึกแล้วชั่งน้ำหนักดูก็พบว่าน้ำหนักลดลงไปจริง แต่ในความเป็นจริงน้ำหนักที่ลดลงไปนั้นคือน้ำที่สูญเสียไปในรูปแบบของเหงื่อ ในสภาวะการหลั่งเหงื่ออย่างปกตินอกจากสารพิษจะถูกขับออกไปแล้วร่างกายยังสูญเสียเกลือแร่อีกหลายชนิดออกไปด้วยและทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียตามมา

เมื่อเราออกกำลังภายในห้องที่อุณหภูมิสูง เหงื่อจะสามารถหลั่งออกมาได้จาก 2 สาเหตุคือจากการขับน้ำออกมาเพื่อระบายความร้อนออกทางผิวหนังซึ่งมาจากอุณหภูมิร้อนภายในห้อง กับเหงื่อได้จากการออกกำลังกายเผาผลาญไขมัน แต่เหงื่อที่ได้จากประเภทหลังก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการออกกำลังชนิดนั้นด้วย เป็นต้นว่าหากคุณฝึกโยคะซึ่งมีประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันช้ากว่าระดับการออกแรงแบบแอโรบิคส์ ก็เท่ากับว่าเหงื่อที่สูญเสียไปย่อมมาจากสาเหตุแรกมากกว่าคือเป็นเพราะร่างกายต้องการระบายความร้อนที่เกิดขึ้นภายในห้อง เพราะประสิทธิภาพการเผาผลาญไขมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความร้อนของอุณหภูมิภายนอกแต่อยู่ที่ความเข้มข้นของวิธีการออกแรงต่างหาก ดังนั้นการฝึกโยคะภายในห้องที่มีความร้อนก็ไม่ได้มีประสิทธิผลในการเผาผลาญไขมันแตกต่างกับการฝึกโยคะแบบธรรมดาทั่วไป เพียงแต่ได้เพิ่มกระบวนการใช้ความร้อนขับสารพิษออกทางผิวหนัง ซึ่งถือว่าร่างกายต้องทำงานหนักกว่าการฝึกโยคะธรรมดามากกว่าเดิม เพราะร่างกายต้องทำงานพร้อมกัน2อย่างคือออกแรงกับขับความร้อนระบายสารพิษ

ข้อดีของการฝึกในอุณหภูมิที่ร้อนก็คือร่างกายปรับความยืดหยุ่นได้ดี สามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บ หลังจากที่ออกกำลังกายเสร็จจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลง แต่ว่าก็เป็นวิธีเดียวกับการลดน้ำหนักแบบนักมวยคือทำให้น้ำในร่างกายน้อยลงเพียงแต่ว่านักมวยจะใช้วิธีเช่นนี้ลดน้ำหนักในช่วงที่จะขึ้นชกเท่านั้น ลองนึกดูภาพของนักมวยที่ใส่เสื้อวอร์มคลุมทั้งตัวทั้งหัว วิ่งไปพลาง กระโดดเชือกไปพลาง นักมวยก็อยู่ในเสื้อที่อบร้อนไม่ต่างจากอยู่ในห้องที่ปรับความร้อน ต่างกันเพียงแค่การฝึกโยคะมีความเข้มข้นการออกแรงน้อยกว่านักมวย ฉะนั้นประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันก็น้อยกว่าในขณะที่ภาวะการสูญเสียน้ำในร่างกายพอๆกัน และหากดื่มน้ำเข้าไปภายหลังน้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นมาเช่นเดิม จะเห็นได้ว่าการฝึกออกกำลังภายในอุณหภูมิที่ร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายแบบนี้เป็นประจำหากไม่ดื่มน้ำเพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปในร่างกายอย่างเพียงพอภายหลังก็จะเกิดสภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่บางชนิดซึ่งเมื่อสะสมนานวันไปก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่นท้องผูก ระบบย่อยอาหารไม่ดี ความดันโลหิตและปัญหาเกี่ยวกับระบบเส้นประสาท

สำหรับผู้ที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรงไม่เหมาะที่จะออกกำลังกายด้วยวิธีการแบบนี้ ทั้งห้องที่ร้อนและการออกกำลังที่ยิ่งมีความเข้มข้นสูงแม้มีประโยชน์ในบางเรื่องแต่ก็มีโทษแฝงอยู่เหมือนดาบสองคม เพราะการสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากเกินไปในขณะออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องดี อาจทำให้ร่างกายมีอาการช็อคหรือเป็นลมหมดสติอย่างกระทันหัน เช่นเดียวกับอาการโอเวอร์ฮีทของรถยนต์ที่น้ำในหม้อน้ำแห้งเหือดหมดไป หรือคล้ายนักมวยที่เป็นโรควูบเพราะลดน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งหากรุนแรงก็อาจเสียชีวิตได้ทันที ดังนั้นอย่าเห็นแก่ผลอันฉาบฉวยหรือใจเร็วด่วนได้กับความคิดที่ว่าออกกำลังภายใต้อุณหภูมิสูงจะช่วยลดน้ำหนักตัวได้เร็ว เพราะน้ำหนักที่เห็นว่าลดลงอย่างรวดเร็วนั้นคือน้ำที่เสียไปมิใช่ไขมัน

โยคะหรือชี่กงมีประโยชน์อย่างไร?


ดังที่ผมเคยกล่าวไว้ในตอนอื่นๆว่าหากมุ่งหวังที่จะลดไขมันอย่างรวดเร็วแล้ว มรรคาที่ดีที่สุดก็คือการออกกำลังกายแนวแอโรบิคส์(aerobics) อย่างเช่นเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิคส์ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกชี่กงหรือโยคะโดยทั่วไปที่ต้องค่อยๆทำอย่างช้าๆแล้วประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันอยู่ในระดับที่สูงกว่า แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าโยคะและชี่กงซึ่งเป็นศาสตร์โบราณนั้นมีคุณค่าด้อยกว่าการออกกำลังแบบสมัยใหม่เป็นอันขาด

จุดประสงค์หลักของการฝึกโยคะและชี่กงอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพของกาย จิตใจ และอารมณ์ อย่างเป็นองค์รวม โดยยังอธิบายลึกลงไปถึงแหล่งพลังงานระดับละเอียดในร่างกายของเราซึ่งเรียกว่า “ปราณ” จึงหมายความว่าทุกๆระบบในร่างกายตลอดจนจิตใจย่อมถูกฝึกฝนพัฒนาไปพร้อมๆกันอย่างสมดุลย์ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่างกับการออกแรงแบบแอโรบิคส์ (aerobics)ที่มีประสิทธิภาพสูงในเรื่องการเผาผลาญไขมัน ช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิต เส้นเลือดฝอย และกล้ามเนื้อสีชมพู รวมทั้งความยืดหยุ่น แต่ด้านการพัฒนากล้ามเนื้อสีขาว ระบบโครงสร้างกระดูก ความหนาของเส้นเอ็นยึดกระดูกข้อต่อ เส้นเลือดใหญ่ กลับมีประสิทธิภาพต่ำ ส่วนการออกแรงแบบอะแนโรบิคส์ (anaerobics) ที่ต้องใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อมากกว่า กลับมีประสิทธิผลตรงกันข้ามกับการออกแรงแบบแอโรบิคส์ ด้วยเหตุนี้การออกกำลังกายแบบโยคะและชี่กงจึงไม่สามารถนำมาจัดเข้าพวกว่าเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคส์หรืออะแนโรบิคส์อย่างใดอย่างหนึ่งได้เลย หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจไม่เป็นทั้งสองประเภทเลยก็ได้

การเปรียบเทียบข้อดีของโยคะและชี่กงกับวิธีการออกกำลังกายสมัยใหม่แล้ว การฝึกโยคะและชี่กงที่พบเห็นโดยส่วนใหญ่ ช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นของร่างกาย พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โครงสร้างกระดูก เส้นเอ็น ข้อต่อ รวมทั้งระบบไหลเวียนโลหิต ไม่แตกต่างกับการออกกำลังกายสมัยใหม่แต่อย่างใดเพียงแต่ประสิทธิภาพอาจไม่รวดเร็วเท่าเทียมกัน

แต่โยคะและชี่กงยังมีข้อดีซึ่งการออกกำลังสมัยใหม่อย่างแอโรบิคส์และอะแนโรบิคส์ไม่มีหรือมีแต่คุณภาพก็ต่ำกว่าถึงนั่นก็คือการฝึกปราณอันเป็นพลังงานละเอียดที่แม้ในวิทยาการปัจจุบันก็ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนแต่ยอมรับว่ามันมีอยู่จริง โดยอาจดำรงอยู่ในรูปของคลื่นพลังงาน พลังชีวไฟฟ้าในร่างกาย ความร้อน ความเย็น และมุ่งไปในการฝึกฝนด้านจิตใจโดยตรงอันมีผลต่ออารมณ์ ความคิด การพัฒนาสมอง นอกจากนี้ในด้านกายภาพยังสามารถบริหารอวัยวะภายในได้โดยตรงอีกด้วย แม้คนๆหนึ่งจะฝึกฝนทั้งแบบแอโรบิคส์และอะแนโรบิคส์เช่น เล่นเวทเทรนนิ่งกับเต้นแอโรบิคส์ซึ่งเราจะพบได้ตามฟิตเนสทั่วไปก็ยังไม่สามารถเทียบเท่าได้ ดังนั้นฟิตเนสที่หัวใสบางแห่งจึงมีการเพิ่มคอร์สโยคะและชี่กงเข้าไปในหลักสูตรก็ด้วยเหตุผลนี้

ฝึกชี่กงหรือโยคะลดไขมันได้จริงหรือ?


มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก ลดไขมันส่วนเกิน ด้วยการฝึกโยคะหรือชี่กง แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกกำลังกายชนิดเดียวกันแต่ไม่สามารถลดได้เลย ทั้งๆที่มีการควบคุมทั้งอาหารมาอย่างดี แล้วสาเหตุมันมาจากอะไรกันแน่?

โดยประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักกับครูผู้สอนชี่กงและโยคะเป็นการส่วนตัวมาพอสมควร นอกจากนี้ก็รู้จักผ่านทางสื่อต่างๆตามที่จะหาได้ ผมพบว่าอาจารย์ชี่กงและโยคะหลายต่อหลายท่านมีร่างกายที่แตกต่างกันมาก บางท่านรูปร่างผอมเพรียว บางท่านกำยำล่ำสัน บางท่านถึงกับอ้วนลงพุงจนดูราวกับว่าเป็นคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมากก่อนเลยเสียด้วยซ้ำ แต่อาจารย์ทั้งหลายนี้ต่างก็มีความสามารถในศาสตร์วิชาความรู้ของท่านจริงโดยไม่ขึ้นอยู่กับรูปร่างภายนอกเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่ากระบวนการในการเผาผลาญไขมันมันเป็นอย่างไรกันแน่

โดยหลักการเบื้องต้น ร่างกายจะทำการเผาผลาญไขมันส่วนเกินก็ต่อเมื่อมีการใช้พลังงานทางร่างกายที่มีความเข้มข้นต่ำ (คือออกแรงแต่น้อย) อย่างต่อเนื่องยาวนาน (อย่างน้อย 20 นาทีขึ้นไป) โดยในตอนแรกร่างกายจะดึงเอาไกลโคเจนอันเป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อขึ้นมาใช้ทำหน้าที่จุดระเบิดพลังงานซึ่งกระบวนการนี้จะเริ่มขึ้นที่ประมาณ 5 นาทีแรกของการออกแรง หลังจากนั้นร่างกายจะดึงเอาไขมันที่สะสมอยู่ตามร่างกายเปลี่ยนมาเป็นพลังงานโดยอาศัยออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจเข้าไปมาเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานในการออกกำลังแบบแอโรบิคส์นั่นเอง โดยร่างกายในขณะนั้นจะต้องทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อดึงออกซิเจนเข้ามาให้ทันท่วงที จึงเป็นผลให้ร่างกายของคนเรามีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ตามมา

องค์ประกอบของการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมันได้ดีก็คือ

1.ร่างกายต้องออกแรง(มากกว่าปกติ)ด้วยความเข้มข้นต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (20นาทีเป็นอย่างต่ำ)

2.ในระยะเวลาของการฝึก อัตราการเต้นของหัวใจควรอยู่ที่ 60-85% ของอัตราสูงสุดต่อนาที ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหวที่เร็วกว่าปกติเท่านั้น ในความเป็นจริงหากไม่มีเครื่องวัด ก็อาจสังเกตจากอาการเต้นของชีพจรตนเอง โดยเอาจำนวนครั้งที่เต้นของชีพจรในระยะเวลา10 วินาทีคูณด้วย6 ผลลัพธ์ที่อยู่ในเกณฑ์ 72 ถือว่าดีสำหรับผู้ที่แข็งแรง (สำหรับผู้ฝึกใหม่อาจมากกว่านี้คือ 78 หรือ 84)

3.ร่างกายจะขับเหงื่อออกมา เป็นผลการแสดงเห็นว่าร่างกายมีการเผาผลาญไขมัน

หากไม่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ร่างกายก็ไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้ในระดับที่ดี

ขณะที่การฝึกชี่กงหรือโยคะก็มีหลายรูปแบบและมีลักษณะที่แตกต่างจากกฎเกณฑ์ของการจัดมาตราฐานว่าเป็นการออกแรงชนิดใดกันแน่แต่ก็สามารถเผาผลาญไขมันได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นท่าโยคะบางท่าต้องออกแรงแต่น้อยแต่ก็ใช้เวลาในการทำท่านั้นนานพอสมควร ร่างกายจะต้องออกแรงมากกว่าปกติอยู่ตลอดเวลาแต่ว่าในขณะที่ทำท่าโยคะลมหายใจก็ยาวลึก มีผลให้อัตราการเต้นของหัวใจไม่สูงขึ้นถึงระดับ 60-85%ของอัตราสูงสุดต่อนาที เมื่อเปรียบเทียบด้วยระยะเวลาที่เท่ากันกับการออกแรงแบบแอโรบิคส์ที่อัตราการเต้นของหัวใจถึงระดับ60-85%ของอัตราสูงสุดต่อนาทีแล้วการฝึกโยคะและชี่กงสามารถเผาผลาญไขมันได้น้อยกว่า ซึ่งหมายความว่าหากต้องการจะฝึกโยคะหรือชี่กงชนิดที่เผาผลาญไขมันได้มีคุณภาพเท่ากับการออกแรงแบบแอโรบิคส์ก็ต้องใช้ระยะเวลาฝึกแต่ละครั้งที่นานกว่า

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าโยคะกับชี่กงมีประสิทธิภาพสู้การออกแรงแบบแอโรบิคส์ไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าปรัชญาสูงสุดของโยคะและชี่กงอยู่ที่การฝึกทั้งกายและจิต ลมปราณและสมาธิ ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักอยู่ที่การลดไขมันส่วนเกินซึ่งนั่นเป็นเพียงผลพลอยได้ การฝึกโยคะและชี่กงต่างก็มีคุณประโยชน์ในตัวของมันเองซึ่งแม้แต่การออกกำลังแบบแอโรบิคส์และอะแนโรบิคส์ก็ไม่สามารถเทียบเท่าได้เช่นกัน

อยากแข็งแรงแบบไหน?..กำหนดเป้าหมายให้ชัด


สำหรับผู้ที่เริ่มสนใจเรื่องการออกกำลังกายและไม่ทราบว่าควรจะเริ่มอย่างไร หากเลือกวิธีการออกกำลังกายโดยปราศจากความเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการออกกำลังแต่ละชนิดก็อาจทำให้วิธีการออกกำลังกายของเขาออกนอกลู่นอกทางได้ การกำหนดเป้าหมายในการออกกำลังกายให้ตนเองจึงมีความสำคัญตรงจุดนี้ เพื่อที่จะได้ออกกำลังกายได้อย่างถูกต้องตรงเป้าและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ยกตัวอย่างเช่นเราอาจเลือกว่าต้องการความแข็งแรงมีพละกำลัง รูปร่างกำยำล่ำบึ๊ก ดูสมาร์ทไปทุกท่วงท่า หรือต้องการรูปร่างที่ปราดเปรียว คล่องแคล่ว ซึ่งวิธีการออกกำลังก็แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ล้วนมีข้อดีและข้อจำกัดในแบบของตนเองทั้งนั้น คนรูปร่างกำยำเต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อแม้มีพละกำลังมากก็จริงแต่ความคล่องแคล่วปราดเปรียวก็ไม่สามารถเทียบเท่าคนที่มีรูปร่างบางกระชับทะมัดทะแมง กลับกันคนที่รู้ร่างบางกระชับแม้จะคล่องแคล่วก็จริงแต่ด้านพละกำลังก็ไม่อาจเทียบเท่าคนที่กล้ามใหญ่โตได้ หรือบางคนอาจจะอยากมีทั้งมัดกล้ามที่ใหญ่โตพอสมควรแต่ขอให้มีความคล่องแคล่วว่องไวบ้างก็อาจจะออกกำลังกายทั้งสองรูปแบบไปพร้อมกันก็ย่อมได้ แต่จะให้ผลของทั้งสองอย่างออกมาดีเทียบเท่ากับคนที่ฝึกร่างกายมาเฉพาะด้านก็คงจะเป็นไปไม่ได้

มีเรื่องเล่าของการฝึกร่างกายผิดประเภทอยู่เรื่องหนึ่ง สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ในการแข่งขันกีฬาสีนั้นมีการคัดเลือกนักวิ่ง 1000 เมตรเข้าลงแข่ง สีของผมมีนักกีฬาเข้าลงแข่งคนหนึ่งซึ่งฝึกร่างกายแบบนักกล้ามมาหลายปี ด้วยความคิดของทุกคนย่อมคิดว่าคนๆนี้มีแรงมากกว่าใครๆต้องชนะอย่างแน่นอน แต่ผลปรากฏว่าในการแข่งขันเขาวิ่งไปได้เพียง 800 เมตรก็เป็นลมล้มพับอยู่ในสนาม ในขณะที่สีอื่นๆเป็นนักวิ่งที่ตัวเล็กๆสามารถเข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลากอันใดที่นักกล้ามคนนี้จะเป็นลมหมดสติ เพราะตลอดระยะทางการวิ่งเขาต้องแบกกล้ามเนื้ออันใหญ่โตซึ่งต้องคูณด้วยความเร็วขณะวิ่งทำให้ร่างกายและหัวเข่าต้องรับภาระแบกน้ำหนักที่มากกว่าน้ำหนักตัวของเขาเองหลายเท่า นั่นก็ย่อมจะเป็นงานที่หนักหนาสาหัสกว่านักวิ่งคนอื่นที่ร่างกายเล็กกว่าเป็นธรรมดา

ดังนั้นการฝึกฝนอย่างไม่ถูกวิธีย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดตามที่เราต้องการ ถึงแม้ว่าร่างกายมีความแข็งแรงขึ้นจริงแต่มันก็ยังไม่ใช่แบบที่เราต้องการ....จากอุธาหรณ์ของเรื่องนี้ก็คือ ก่อนจะออกกำลังกายอย่าลืมนึกเสมอว่าเราต้องการจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงในแบบใด

การออกกำลังกายแบ่งเป็นกี่ประเภท?


ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีวิธีการออกกำลังกายมากมายรูปแบบเหลือเกิน ทั้งการเดิน วิ่งจ็อคกิ้ง มาราธอน เต้นแอโรบิคส์ เวทเทรนนิ่งที่ต้องเข้าฟิตเนสไปยกลูกเหล็กเพื่อปั๊มกล้ามให้เป็นมัดๆ รำกระบอง การเล่นกีฬาชนิดต่างๆ หรือหากจะมองไปแนวทางของศาสตร์โบราณก็มีวิธีการออกกำลังกายอย่าง โยคะ ชี่กง รำมวยเพื่อสุขภาพ สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายและเริ่มสนใจว่าตนเองควรจะออกกำลังกายแบบไหนก็คงจะเลือกไม่ถูก หรือไม่ก็เกิดความรู้สึกว่า นั่นก็น่าเรียน นี่ก็น่าฝึก สุดท้ายเลยไม่รู้จะเลือกออกกำลังกายชนิดใด

บางคนอาจเลือกวิธีออกกำลังกายในรูปแบบที่ตนเองชอบแต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าวิธีการออกกำลังกายเช่นนั้นจะสร้างความสมบูรณ์ของร่างกายได้ทุกส่วน ในเมื่อร่างกายของคนประกอบไปด้วยระบบการทำงานต่างชนิดกันเป็นจำนวนมาก การออกกำลังกายชนิดหนึ่งอาจส่งผลดีต่อระบบการทำงานในร่างกายบางระบบในขณะที่บางระบบอาจได้ผลน้อยหรืออาจไม่ได้รับการกระตุ้นเลย

หากเราจะแบ่งชนิดของวิธีการออกกำลังกายแบ่งต่างๆโดยอ้างอิงจากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน อาจสามารถแบ่งวิธีการออกกำลังกายออกได้ 3 ประเภทดังนี้

1.การออกกำลังแบบแอโรบิคส์ (Aerobics) เป็นการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นต่ำ มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนซึ่งได้จากอากาศที่เราหายใจเข้าไปมาช่วยในการสันดาปพลังงานในร่างกาย การออกกำลังกายแบบแอร์โรบิคส์นั้นมีลักษณะการใช้แรงแต่น้อยด้วยระยะเวลาที่ยาวนานต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมีผลดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจ และเส้นประสาท นอกจากนี้ยังช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย และพัฒนาความแข็งแรงของมัดกล้ามเนื้อสีแดง และสร้างความยืดหยุ่นของร่างกาย การออกกำลังกายประเภทนี้ได้แก่ การเดิน จ็อคกิ้ง วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เต้นรำ เต้นแอร์โรบิคส์ หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นการออกกำลังที่ต้องอาศัยความอึดนั่นเอง

2.การออกกำลังแบบอะแนโรบิคส์ (Anaerobics) คือการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูง มีลักษณะใช้กำลังมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยร่างกายจะดึงพลังงานจากกล้ามเนื้ออย่างฉับพลันซึ่งออกซิเจนไม่สามารถทำการเผาผลาญได้ทันท่วงที ซึ่งผลจากการใช้พลังงานเช่นนี้จะทำให้ร่างกายสร้างกรดแลคติด (Lactic Acid) ซึ่งก่อให้เกิดอาการเมื่อยล้าขึ้นและโดยร่างกายจะต้องทำการสลายกรดแลคติดนี้ด้วยออกซิเจนในภายหลัง การออกกำลังกายประเภทนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะมัดกล้ามเนื้อสีขาว กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น ได้แก่ การเล่นเวทเทรนนิ่ง ยกน้ำหนัก เพาะกาย การวิ่งระยะสั้น หรือจะเรียกการออกกำลังกายแนวนี้ว่าแนวจอมพลังก็คงจะไม่ผิดนัก

3)การออกกำลังกายแบบผสมผสาน หมายถึงการออกกำลังกายที่มีลักษณะร่วมของการออกกำลังกายแบบแอโรบิคส์กับอะแนโรบิคส์เข้าด้วยกัน โดยบางช่วงก็มีลักษณะเป็นการออกกลังแบบแอโรบิคส์ บางช่วงก็เป็นการออกกำลังแบบอะแนโรบิคส์ การออกกำลังกายประเภทนี้ส่วนมากจะพบได้ในการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ อาทิฟุตบอล บาสเก็ตบอล การปั่นจักรยานทางไกล ยกตัวอย่างเช่นในการเล่นฟุตบอล การสปีดตัวเข้าไปแย่งลูก หรือการยิงประตู เป็นการออกกำลังแบบอะแนโรบิคส์ ส่วนการวิ่งไปวิ่งมาในเกมส์การแข่งขันเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคส์

วิธีการแบ่งชนิดของการออกกำลังกายเป็น 3 ประเภทข้างต้นเป็นเพียงการจัดแบ่งตามองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังมีการออกกำลังกายบางประเภทที่มีลักษณะผสมผสานเช่นกันเพียงแต่มิได้ใช้มาตรฐานข้างต้นเป็นตัวชี้วัด นั่นก็คือการออกกำลังกายที่เป็นศาสตร์โบราณเก่าแก่อย่างเช่น การฝึกโยคะ ชี่กง ลมปราณ รำมวยจีน ซึ่งใช้มุมมองที่ลึกลงไปถึงสรีระทางร่างกายรวมถึงอวัยวะภายในต่างๆ ทำให้เกิดมีวิธีออกกำลังกายที่มีรูปแบบแตกต่างกันหลายชนิด เช่น การขยับ การนิ่ง การบีบ การคลาย การกด คลึง ถู บิดนวดอวัยวะภายใน การขับล้าง การเสริมสร้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจสามารถจัดรวมเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคส์หรืออะแนโรบิคส์ก็ได้ ในทางกลับกันอาจไม่เป็นทั้งสองอย่างเลยก็ได้ ซึ่งผมจะอธิบายอีกครั้งในหัวข้อที่เกี่ยวข้องนะครับ

มาออกกำลังกายกันเถอะ


สำหรับคนรักสุขภาพแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าการออกกำลังกายที่เรากำลังทำกันอยู่เป็นประจำนั้นเพียงพอหรือสามารถสร้างความสมบูรณ์ให้แก่องคพายพของร่างกายได้อย่างครบถ้วน หากมองไปรอบๆตัวเราจะพบว่าวิธีการออกกำลังกายนั้นมีอยู่มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เดิน วิ่งมาราธอน จ็อคกิ้ง ปั่นจักรยาน แอโรบิคส์ เวทเทรนนิ่ง ชี่กง โยคะ ฯลฯ

เราจะพบว่าการออกกำลังกายหลายๆต่อหลายชนิดแม้จะบอกว่ามีผลดีต่อสุขภาพเหมือนๆกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วแต่ละชนิดของการออกกำลังกายก็มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ใช้แรงมากกับใช้แรงน้อย แบบช้าๆกับแบบเร็วๆ แล้วการออกกำลังแต่ละอย่างนั้นมีข้อดีอย่างไร มีข้อจำกัดบ้างไหม แล้วเราควรจะออกกำลังกายกันอย่างไรจึงจะได้คุณประโยชน์สูงสุดจากการลงแรงกายสูญเสียหยาดเหงื่อไปอย่างคุ้มค่าเพื่อแลกกับความมีสุขภาพดีและมีรูปร่างบุคลิกภาพตามที่เราต้องการ

เว็บบล็อกนี้ผมจึงได้พยายามรวบรวมองค์ความรู้ในการออกกำลังกายหลายๆประเภทจากแหล่งความรู้ต่างๆ รวมทั้งจากประสบการณ์ที่เคยออกกำลังกายมาหลายๆประเภทในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเกรงว่าหากไม่เขียนลงไปบ้างวันหนึ่งก็คงจะลืมเป็นแน่แท้และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจที่รักการออกกำลังกายทุกๆท่าน